https://www.thaistudyabroad.com

วีซ่าเยอรมัน

VISA 

วีซ่าสำหรับผู้ที่ประสงค์จะมาศึกษาที่เยอรมัน จะมีทั้งหมด 3 ประเภท ได้แก่วีซ่าสำหรับเรียนภาษา ซึ่งไม่สามารถเปลี่ยนเป็นวีซ่านักเรียนได้, ใบขอวีซ่าสำหรับสถานศึกษา ซึ่งจะมีผลเมื่อทางสถานศึกษาตอบรับเข้าเรียนแล้วเท่านั้น หลังจากสถานศึกษายื่นยันการรับเข้าศึกษาแล้ว จะต้องรีบรายงาน ณ กองตรวจคนเข้าเมืองทันที (Auslanderamt) วีซ่าที่เกี่ยวเนื่องกับนักเรียนมีดังนี้

  • วีซ่าสำหรับเรียนภาษา, ซึ่งไม่สามารถเปลี่ยนเป็นวีซ่านักเรียนได้
  • ใบสมัครขอวีซ่าสำหรับสถานศึกษา ซึ่งจะมีผลเมื่อทางสถานศึกษาตอบรับเข้าเรียนแล้วเท่านั้น หลังจาก
    สถานศึกษายื่นยันการรับเข้าศึกษาแล้ว จะต้องรีบรายงาน ณ กองตรวจคนเข้าเมืองทันที (Auslanderamt)
  • วีซ่านักเรียน ซึ่งจะมีอายุ 1 ปี การที่จะได้รับวีซ่านักเรียนนี้ จะต้องมีใบตอบรับจากทางมหาวิทยาลัย และใบรับรองสถานะทางการเงิน
  • นักเรียนจะต้องมีผลภาษาเยอรมันระดับ B1 ในการยื่นวีซ่านักเรียน

เอกสารที่จำเป็นสำหรับการขอวีซ่าเพื่อการศึกษา (ประเทศไทย)

  • แบบฟอร์มคำร้องที่กรอกครบถ้วน
  • รูปถ่าย 3 ใบ (2 นิ้ว ฉากหลังสีขาว)
  • หนังสือเดินทางฉบับจริง
  • หลักฐานทางการเงิน ซึ่งแสดงว่าสามารถรับผิดชอบค่าใช้จ่ายได้
  • กรณีศึกษาต่อในมหาวิทยาลัย ต้องแสดงหนังสือตอบรับการให้เข้าศึกษาของสถาบันศึกษา หรือหนังสือรับรองการสมัครเข้าศึกษาจากสถาบันศึกษา
  • กรณีเรียนภาษา ต้องแสดงหนังสือแจ้งการสมัครเข้าเรียนภาษาขั้นเร่งรุด (อย่างน้อย 20 ชั่วโมงต่อสัปดาห์)
  • ค่าดำเนินการวีซ่า 60 ยูโร
  • นักเรียนต้องนัดสัมภาษณ์และยื่นวีซ่าด้วยตัวเอง

อยากเรียนต่อที่ประเทศเยอรมันนีทำอย่างไร ?

Q : ฉันต้องมีคุณสมบัติอย่างไร ถ้าต้องการสมัครเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยที่เยอรมนี
A : คุณสามารถศึกษาระดับปริญญาตรีในเยอรมนีได้ถ้าประกาศนียบัตรมัธยมศึกษาตอนปลายของคุณเทียบเท่ามาตรฐานวุฒิเยอรมัน (Abitur) ในกรณีที่ไม่เทียบเท่าคุณจะต้องการผ่านการสอบ Assessment Test (Feststellungsprüfung) เพื่อพิสูจน์ว่าคุณมีคุณสมบัติเพียงพอที่จะศึกษาต่อที่เยอรมนี ส่วนใหญ่ผู้ที่จะสอบผ่าน Assessment Test ได้จะต้องเข้าเรียนในโรงเรียนปรับพื้นฐาน Stuidenkolleg ก่อนเป็นเวลาหนึ่งปี
ถ้าคุณวางแผนศึกษาต่อระดับปริญญาโทหรือหลักสูตรเสริมเพื่อเพิ่มพูนความรู้ปริญญาใบแรกคุณจะต้องมีคุณสมบัติตรงตามเงื่อนไขตามที่หลักสูตรกำหนดเอาไว้
หากคุณต้องการศึกษาต่อระดับปริญญาเอกที่เยอรมนี คุณจะต้องจบการศึกษาระดับปริญญาโท หรือเทียบเท่า ซึ่งมีมาตรฐานเทียบเท่ากับเยอรมัน โดยมหาวิทยาลัยที่คุณต้องการเข้าศึกษาต่อจะเป็นผู้พิจารณาคุณจึงควรติดต่อกับสถาบันนั้น ๆ โดยตรง

Q : มหาวิทยาลัยในเยอรมนีมีทั้งหมดกี่ประเภท
A : เยอรมนีมีสถาบันระดับอุดมศึกษากระจายอยู่ทั่วประเทศทั้งหมดถึง 427 แห่ง คุณสามารถเลือกเรียนได้จากสถาบันอุดมศึกษาประเภทต่างๆดังนี้
มหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยเทคนิค (Universities / Technical Univerisities) มีจำนวน 107 แห่ง มีจำนวนนักศึกษาประมาณ 1.7 ล้านคน มหาวิทยาลัยเน้นภาคปฏิบัติ (Univeresities of Applied Sciences) มี 246 แห่งมีนักศึกษาอยู่ประมาณ 930,000 คน วิทยาลัยด้านการดนตรี ศิลปะและภาพยนตร์ มี 52 แห่ง มีนักศึกษาประมาณ 35,000 คน นอกจากนี้จากมีวิทยาลัยครู อีก 6 แห่งและวิทยาลัยศาสนา อีก 16 แห่ง www.study-in.de

Q : มหาวิทยาลัยของเยอรมนีมอบวุฒิการศึกษาระดับใดบ้าง
A : ก่อนหน้านี้จนถึงปี ค.ศ.2009/10 วุฒิการศึกษามาตรฐานของมหาวิทยาลัยในเยอรมนี คือ Diplom เช่น “Diplom-Ingenieur“ สำหรับผู้จบทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ “Magister Artrium“ (MA) สำหรับผู้จบทางด้านมนุษยศาสตร์ และ “Staatsexamen” ซึ่งเป็นวุฒิสำหรับการศึกษาทางด้านวิชาเฉพาะเพื่อประกอบอาชีพที่อยู่ภายใต้การควาบคุมของรัฐ เช่น ด้านกฎหมาย แพทยศาสตร์ เภสัชศาสตร์ เป็นต้น ซึ่งวุฒิดังกล่าวจะเป็นวุฒิที่มีลักษณะเฉพาะและไม่สามารถนำมาเทียบกับวุฒิจากประเทศอื่น ๆ ได้เสมอไป

ปี ค.ศ. 2010 หลังจากที่มีปรับเปลี่ยนระบบการศึกษาตามข้อตกลงการปรับวุฒิการศึกษาของมหาวิทยาลัยในยุโรปให้เป็นมาตรฐานเดียวกันหมดตาม Bologna Process มหาวิทยาลัยในเยอรมันจึงมีการมอบวุฒิการศึกษาแบบสากลในระดับ ปริญญาตรี ปริญญาโท ในหลาย ๆ หลักสูตร ปัจจุบันนี้นักศึกษาต่างชาติสามารถเลือกเรียนได้หลากหลายและวุฒิปริญญาตรี โท จากเยอรมนีก็ได้รับการยอมรับจากนานาประเทศทั่วโลก


Q : ฉันจำเป็นต้องมีความรู้ภาษาเยอรมันหรือไม่

A : โดยทั่วไปภาษาที่ใช้สอนที่มหาวิทยาลัยจะเป็นภาษาเยอรมัน แต่สำหรับหลักสูตรนานาชาติบางหลักสูตรที่มีการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษ ผู้สมัครก็ไม่จำเป็นต้องมีความรู้ภาษาเยอรมัน โปรดสอบถามกับหลักสูตรที่คุณเลือกให้แน่นอนเกี่ยวกับเงื่อนไขด้านภาษาที่คุณต้องเตรียมพร้อมก่อนเข้าศึกษาต่อในสาขาที่ต้องการ
ถ้าคุณต้องการศึกษาในระดับปริญญาตรีหรือปริญญาโทที่สอนด้วยภาษาเยอรมัน คุณจำเป็นจะต้องผ่านการทดสอบความรู้ภาษาเยอรมันก่อน TestDAF คือมาตรฐานการทดสอบทางภาษาที่มีรูปแบบคล้าย ๆ การสอบ TOEFL จัดเตรียมไว้เพื่อทดสอบความรู้ภาษาเยอรมันของผู้สมัครต่างชาติ สามารถสมัครสอบได้ตามศูนย์สอบในประเทศของตน ผู้สมัครจะต้องสอบผ่าน TestDaf 4 เพื่อรับรองว่ามีความชำนาญทางภาษาเยอรมันพอที่ศึกษาต่อได้ การสอบภาษาเยอรมันอีกแบบคือ DSH (Deutsche Sprachprüfung für den Hochschulzugang ausländischer Studienbewerber) เป็นการสอบวัดระดับภาษาเยอรมันสำหรับนักศึกษาต่างชาติโดยจัดสอบที่มหาวิทยาลัยประเทศเยอรมนีเท่านั้น

สำหรับหลักสูตรภาษาอังกฤษ ผู้สมัครสามารถใช้ประกาศนียบัตรหรือผลคะแนนสอบ IELTS หรือ TOEFL ยื่นกับทางหลักสูตร แต่ละหลักสูตรอาจกำหนดคะแนนการสอบต่างกันไป โปรดสอบถามไปที่หลักสูตรโดยตรงว่าต้องการคะแนนภาษาอังกฤษเท่าไร

Q : มหาวิทยาลัยไหนดีที่สุดในเยอรมนี
A : โดยรวมแล้วคุณภาพของมหาวิทยาลัยในเยอรมนีมีระดับมาตรฐานที่เสมอกัน แต่ถ้าคุณอยากทราบว่ามหาวิทยาลัยไหนเสนอหลักสูตรที่เหมาะสมกับความต้องการของคุณมากที่สุด คุณควรเริ่มค้นหาจากเป้าหมายที่แน่นอนว่า อะไรคือสิ่งที่คุณต้องการศึกษา จากนั้นคุณอาจใช้ประโยชน์จากการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโดย CHE (Center for Higher Education Development) ซึ่งจะแสดงสาขาวิชาสำคัญต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยแต่ละแห่ง คุณสามารถเข้าไปดูได้ www.daad.de/deutschland/che-university-ranking

Q : มหาวิทยาลัยของเยอรมนีเสนอหลักสูตรการศึกษาระยะสั้นหรือภาคฤดูร้อนหรือไม่
A : ในทางปฏิบัติมหาวิทยาลัยในเยอรมนีเปิดโอกาสให้มีการศึกษาระยะสั้น โดยจะระบุอยู่ในข้อตกลงของมหาวิทยาลัยที่ร่วมมือกันซึ่งมีเป็นจำนวนมาก เช่น การส่งนักศึกษาไปฝึกงานช่วงปิดภาคเรียน หรือการไปแลกเปลี่ยน เป็นต้น ข้อแนะนำคือ นักศึกษาควรสอบถามกับทางมหาวิทยาลัยที่ศึกษาอยู่ว่ามีความร่วมมือเช่นนี้กับทางมหาวิทยาลัยในเยอรมนีบ้างหรือไม่

นอกจากนี้ยังมีมหาวิทยาลัยในเยอรมนีจำนวนมากที่เปิดสอนหลักสูตรระยะสั้นภาคฤดูร้อน นอกจากการเปิดสอนภาษาเยอรมัน วรรณคดีและภูมิศาสตร์ประเทศเยอรมันแล้ว ยังการเปิดหลักสูตรสาขาวิชาอื่น ๆ ให้หลากหลายมากขึ้นอยู่ตลอดเวลา เช่น ด้านดนตรี ศิลปะ การจัดการ การแพทย์ ฯลฯ หากต้องการหาข้อมูลเพิ่มเติมสามารถดูได้ที่ www.summerschools.de

Q : ฉันต้องทำอย่างไร ถ้าต้องการศึกษาในระดับปริญญาเอกที่เยอรมนี
A : มหาวิทยาลัยประมาณ 110 แห่งในเยอรมนีเสนอการศึกษาในระดับปริญญาเอก วิธีที่ดีที่สุดในการค้นหาว่ามีหลักสูตรใดเปิดสอนที่มหาวิทยาลัยไหนบ้าง คือการเข้าไปศึกษาข้อมูลจากเว็บไซต์ www.research-in-germany.org

การศึกษาตามแบบพื้นฐานเดิม “Traditional/Individual Doctoral Studies”

การวางแผนงานวิจัยหรือการทำวิทยานิพนธ์อย่างละเอียดถี่ถ้วนคือแก่นสำคัญของการทำปริญญาเอกแบบนี้ นักศึกษาจะตกลงเลือกหัวข้องานวิจัยกับอาจารย์ที่ปรึกษา (Doktorvater หรือ Doktormutter) แล้วจึงเริ่มทำงานวิจัยหรือทำวิทยานิพนธ์ของตนเอง แยกออกมาเป็นผลงานอิสระ

คุณควรพยายามใช้อินเตอร์เน็ต และอีเมล์ เพื่อค้นหาและติดต่อกับอาจารย์ที่ปรึกษา เมื่อคุณได้อาจารย์ที่ปรึกษาสำหรับทำวิทยานิพนธ์แล้ว คุณก็จะต้องลงทะเบียนเป็นนักศึกษาของมหาวิทยาลัยนั้น ๆ และอาจเข้าเรียนเฉพาะวิชาที่กำหนด โปรดสอบถามทันทีว่าระดับการศึกษาของคุณ มีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะศึกษาต่อระดับปริญญาเอกหรือไม่

การศึกษาตามหลักสูตรที่จัดไว้ “Structured PhD Programme”

ปัจจุบันนี้มหาวิทยาลัยในเยอรมนีเสนอหลักสูตรปริญญาเอกรวมทั้งหมดมากกว่า 700 หลักสูตร โดยในจำนวนนี้เป็นหลักสูตรนานาชาติมากกว่า 300 หลักสูตร ปัจจุบันมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ได้จัดทำหลักสูตรเพิ่มขึ้นสำหรับนักศึกษาต่างชาติที่สนใจเรียนต่อระดับปริญญาเอก เพื่อให้เหมาะสมกับความต้องการโดยเริ่มจากการเตรียมการขั้นต้น คือการแนะแนวการศึกษาและให้คำแนะนำเบื้องต้นสำหรับสิ่งที่ต้องคำนึงถึงเกี่ยวกับเงื่อนไขในการวิจัยที่เอื้อประโยชน์ต่อนักศึกษาต่างชาติมากขึ้น เช่น การให้นักศึกษาทำวิทยานิพนธ์เป็นภาษาอังกฤษหรือภาษาต่างประเทศอื่น ๆ ได้ ตลอดจนการเสริมความรู้ภาษาเยอรมันเข้าไปในหลักสูตร ซึ่งจะช่วยลดปัญหาทางภาษาของนักศึกษาได้

ข้อมูลมหาวิทยาลัยที่เปิดสอนหลักสูตรนานาชาติระดับปริญญาเอก ค้นหาได้ในเว็บไซต์ www.daad.de/idp

Q : ฉันจำเป็นจะต้องขอวีซ่าหรือไม่ และต้องดำเนินการอย่างไร
A : ผู้ที่ต้องการไปศึกษาต่อในประเทศเยอรมนีที่มีสัญชาติไทยจะต้องขอวีซ่าในการเข้าประเทศเยอรมนีที่สถานทูตเยอรมนีประจำประเทศไทย โดยจะต้องยื่นคำร้องขอวีซ่าประเภท National Visa ซึ่งเป็นวีซ่าสำหรับการเข้าเยอรมนีเพื่อการพำนักระยะยาว (มากกว่า 90 วัน)

วีซ่าเชงเกน (Schengen Visum) ไม่สามารถเปลี่ยนเป็นใบอนุญาตพำนัก (Aufenthaltserlaubnis) ได้

นอกจากหลักฐานเอกสารตอบรับจากสถาบันการศึกษาหรือการจองคอร์สเรียนภาษาจากโรงเรียนภาษาแล้ว ยังมีหลักฐานที่จะต้องแสดงในการยื่นคำร้องขอวีซ่า เช่น หลักฐานทางการเงิน ซึ่งผู้ยื่นคำร้องสามารถแสดงโดยใช้หลักฐานการโอนเงินเข้าบัญชีแบบ blocked account และเอกสารอื่น ๆ สามารถดูรายละเอียดได้ในเว็บไซต์ของสถานทูตฯ http://www.bangkok.diplo.de/

ทั้งนี้ การดำเนินการในการยื่นคำร้องขอวีซ่าอาจใช้เวลารวมตั้งแต่การเตรียมเอกสารถึง 6-10 สัปดาห์ ดังนั้นเมื่อเตรีมเอกสารครบแล้ว ควรรีบดำเนินการยื่นคำร้อง ปัจจุบันการนัดหมายเพื่อยื่นคำร้องสามารถทำได้โดยผ่านระบบออนไลน์ของสถานทูตฯ เท่านั้น

ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่

สถานทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีประจำประเทศไทย
จันทร์ –ศุกร์ ระหว่าง 8.30 –11.30 น.
ที่อยู่ 9 ถนนสาทรใต้ กรุงเทพฯ 10120
โทรศัพท์: 02 287 9000
http://www.bangkok.diplo.de/

Q : ฉันจะต้องเสียค่าเล่าเรียนหรือไม่
A : มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ได้รับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายจากรัฐบาลแต่จะมีมหาวิทยาลัยในบางรัฐของเยอรมนีที่มีการเก็บค่าเล่าเรียนบ้าง ขณะที่บางแห่งอาจเรียกเก็บค่าเล่าเรียนเฉพาะในบางหลักสูตร หรือในระบบการศึกษาทางไกล หรือจากนักศึกษาที่เรียนนานเกินกว่าที่หลักสูตรกำหนด ส่วนการศึกษาในมหาวิทยาลัยเอกชน นักศึกษาต้องเสียค่าเล่าเรียนทั้งหมดเอง

ค้นหารายละเอียดได้ที่ www.daad.de/deutschland/nach-deutschland/voraussetzungen/en

ข้อมูลเพิ่มเติมในเรื่องเกี่ยวกับค่าเล่าเรียนและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ซึ่งคุณต้องเตรียมตั้งงบประมาณไว้ เช่น ค่าธรรมเนียมลงทะเบียนต่อภาคการศึกษา ค่าตั๋วรถโดยสาร ค่าธรรมเนียมการจัดการ สามารถดูได้จากเว็บไซต์ www.study-in.de/en/plan-your-stay/money-and-costs/

Q : ค่าใช้จ่ายต่อเดือนประมาณเท่าไหร่
A : ค่าใช้จ่ายซึ่งรวมถึงค่าที่พัก ค่าอาหาร ค่าเสื้อผ้า ค่าซักรีด ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการดูแลสุขลักษณะ การเดินทาง อุปกรณ์การศึกษา และสำหรับการประกันสุขภาพ ค่าโทรศัพท์ ค่าใช้จ่ายในกิจกรรมยามว่างต่าง ๆ ทั้งหมดโดยประมาณอยู่ระหว่าง 800 – 900 ยูโรต่อเดือน

ตัวอย่างค่าใช้จ่ายรายเดือนโดยเฉลี่ยของนักศึกษาต่างชาติ

ค่าที่พัก 250 – 350   ยูโร
ค่าประกันสุขภาพ (สำหรับผู้ที่อายุต่ำกว่า 30 ปี) 85   ยูโร
ค่าอาหาร 110 – 165   ยูโร
ค่าเสื้อผ้า 55   ยูโร
ค่าเดินทาง 85   ยูโร
ค่าอุปกรณ์การศึกษา 30   ยูโร
ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เช่น โทรศัพท์ อินเตอร์เน็ต หรือกิจกรรมยามว่าง 100   ยูโร
– เฉลี่ยค่าใช้จ่ายต่อคน
เดือนละ 800 – 900   ยูโร
ปีละ 9,600 – 10,800   ยูโร

ทั้งนี้ค่าใช้จ่ายของแต่ละบุคคล อาจแตกต่างกันไป เช่น ถ้าอาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ ๆ เช่น มิวนิค หรือฮัมบวร์ก คุณก็จำเป็นต้องมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าอยู่ในเมืองเล็ก ๆ

คุณสามารถขอคำปรึกษาแนะนำเกี่ยวกับการเงิน การใช้ชีวิต การดูแลสุขภาพ และความรู้ทางวัฒนธรรมต่าง ๆ ได้จากกองบริการนักศึกษา หรือ Studentenwerk โดยเข้าไปที่เว็บไซต์ www.internationale-studierende.de/en/prepare_your_studies/

Q : ฉันจะสามารถขอทุนการศึกษาได้หรือไม่
A : ปกติแล้ว มหาวิทยาลัยเองจะไม่มีการให้ทุนการศึกษาหรือทุนวิจัย แต่ยังมีหลายองค์กรที่คุณสามารถขอทุนสนับสนุนในการศึกษาได้ องค์การแลกเปลี่ยนด้านวิชาการเยอรมนี (DAAD) มีโปรแกรมทุนสนับสนุนการศึกษาและการวิจัยให้แต่ละประเทศซึ่งทุนเหล่านี้ส่วนใหญ่มีให้กับอาจารย์ นักวิชาการ และนักศึกษาที่ใกล้จบหรือจบการศึกษาในระดับอุดมศึกษาแล้ว ส่วนองค์กรอื่น ๆ มักตั้งเงื่อนไขเฉพาะทุนของตนแตกต่างกันไป ซึ่งส่วนใหญ่จะสนับสนุนให้ทุนเพียงบางส่วนเท่านั้น นอกเหนือจากการเข้าดูเรื่องทุนการศึกษาในฐานข้อมูลแล้ว คุณยังสามารถค้นหาที่อยู่ขององค์กรต่าง ๆ ที่ให้ทุนการศึกษาและทุนวิจัยได้ที่เว็บไซต์ www.funding-guide.de

Q : ฉันจะหาที่พักได้อย่างไร
A : ตามปกติแล้วมหาวิทยาลัยในเยอรมนีไม่มีหอพักภายในไว้บริการนักศึกษา ซึ่งหมายความว่าคุณต้องหาที่พักเอง ซึ่งอาจเป็นของรัฐหรือเอกชน โดยดูจากข้อมูลข่าวสารที่ประกาศไว้ตามกระดานปิดประกาศของมหาวิทยาลัย ที่กองบริการนักศึกษา (Studentenwerk) ตามชมรมหรือองค์กรนักศึกษา หรือที่สำนักงานนักศึกษาต่างชาติ (Akademisches Auslandsamt) หรือโดยการลงประกาศเล็ก ๆ เพื่อหาที่พักในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นซึ่งมักจะได้ผลเสมอ

แต่ถ้าคุณต้องการอยู่หอพักนักศึกษาซึ่งส่วนใหญ่เป็นที่ต้องการมาก เพราะราคาย่อมเยากว่าและเป็นของรัฐ คุณควรรีบติดต่อกับกองบริการนักศึกษาของมหาวิทยาลัยที่คุณเลือกและแจ้งความประสงค์ไว้แต่เนิ่น ๆ

คุณสามารถเข้าดูข้อมูลเพิ่มเติมของกองบริการนักศึกษา (Studentenwerk) ได้โดยผ่านทางเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยหรือวิทยาลัยนั้น ๆ ถ้าคุณต้องการที่พักที่เป็นส่วนตัว คุณลองติดต่อที่ตัวแทนจัดหาที่พัก เช่น Mitwohnzentrale ส่วนการแบ่งห้องพักในบ้านเช่าหลังเดียวกัน (Wohngemeinschaften หรือคำย่อ WGs) ก็เป็นที่นิยมมากในหมู่นักศึกษาเยอรมัน

ค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่

www.daad.de/accommodationfinder
www.study-in.de/en/plan-your-stay/accommodation/

Q : ฉันจะหารายได้พิเศษระหว่างเรียนได้หรือไม่
A : นักศึกษาไทยที่ลงทะเบียนเรียนเป็นนักศึกษากับมหาวิทยาลัยในเยอรมนีเรียบร้อยแล้ว สามารถหางานพิเศษทำได้ในเวลาว่าง นักศึกษาได้รับอนุญาติให้ทำงานได้ 120 วันต่อปี หรือ 240 วันต่อปี(ในกรณีที่ทำงานครึ่งวัน) สำหรับการทำงานพิเศษที่เป็นตำแหน่งผู้ช่วยงานในมหาวิทยาลัย (wissenschaftliche Hilfskraft หรือ HiWi)นั้น มีข้อยกเว้นสามารถทำงานได้โดยไม่ถูกจำกัดระยะเวลา แต่ต้องแจ้งกับทางการ

การหางานพิเศษ อาจหาได้จากป้ายประกาศในมหาวิทยาลัยหรือตามที่ต่าง ๆ ที่เรียกว่า Schwarzes Brett หรือในประกาศหางานในเว็บไซต์ของชมรมนักศึกษาหรือในเมือง ในเมืองใหญ่อาจมีการแข่งขันในการหางานสูงกว่าเมืองเล็ก ค่าจ้างงานมักจะขึ้นอยู่กับหน้าที่ในการทำงานและค่าครองชีพของแต่ละเมือง นักศึกษาที่มีความสามารถในการสื่อสารภาษาเยอรมัน มีโอกาสได้งานและเลือกงานได้มากกว่านักศึกษาที่พูดได้เพียงภาษาอังกฤษ เพราะงานที่ต้องมีการติดต่อสื่อสารกับผู้คน ความรู้ภาษาเยอรมันเป็นสิ่งจำเป็น เช่น งานบริการในร้านอาหาร ในร้านขายของ เลี้ยงเด็ก ผู้ช่วยในสำนักงาน เป็นต้น นักศึกษาที่ยังสื่อสารภาษาเยอรมันได้ไม่คล่องนัก อาจหางานประเภทอื่น ๆ ได้ เช่น ผู้ช่วยในร้านอาหาร เป็นต้น

สำหรับการฝึกงาน หากการฝึกงานนั้น ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรการเรียน (หลักสูตรไม่ได้บังคับให้ฝึกงาน) จำนวนวันที่ฝึกงานก็จะถูกนับเข้าไปรวมกับวันทำงาน 120 วันด้วย แม้ว่าการฝึกงานนั้นจะไม่ได้รับค่าจ้างก็ตาม

รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับงานพิเศษสำหรับนักศึกษาสามารถดูได้จากเว็บไซต์

www.daad.de/job

www.international-studierende.de/en/during_your_studies/

Q : ฉันจะหางานทำในประเทศเยอรมนีหลังจากจบการศึกษาแล้วได้หรือไม่
A : นักศึกษาต่างชาติที่สำเร็จการศึกษาสามารถขอรับสิทธิขอพำนักเพื่ออยู่หางานที่เยอรมนีได้ถึง 18 เดือน ในระหว่างนี้ เมื่อได้งานที่ตรงกับความต้องการและวุฒิที่จบมา โดยมีสัญญาจ้างงานระยะยาวระบุรายได้ที่แน่นอนจากนายจ้างเป็นหลักฐาน จะมีสิทธิขอใบอนุญาตพำนักสำหรับแรงงานต่างชาติได้

รายละเอียดเพิ่มเติมดูได้จากเว็บไซต์ www.make-it-in-germany.com/

Q : ข้อมูลเพิ่มเติม ฉันจะหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการศึกษาต่อในเยอรมนีได้ที่ไหน
A : คุณสามารถติดต่อขอคำแนะนำในการวางแผนการศึกษาในประเทศของคุณได้ดังต่อไปนี้ (คุณจะได้รับเอกสารของ DAAD อื่น ๆ ที่ให้ข้อมูลอย่างละเอียด):

ศูนย์บริการข้อมูล (ICs) และสาขาย่อยของ DAAD (ดูที่อยู่ได้ที่ www.daad.de/local)

ที่ปรึกษาและอาจารย์ของ DAAD ประจำมหาวิทยาลัย

สำหรับประเทศไทยติดต่อได้ที่ DAAD Information Centre Bangkok www.daad.or.th

ข้อมูลจากอินเตอร์เนต:

ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับการศึกษาต่อในเยอรมนี:
www.daad.de/deutschland
www.study-in.de

หลักสูตร:
www.daad.de/international-programmes
www.hochschulkompass.de
www.universityranking.de
www.studienwahl.de

การยื่นขอวีซ่า:
www.auswaertiges-amt.de สำหรับประเทศไทย สถานทูตเยอรมัน http://www.bangkok.diplo.de/

ทุนและโครงการสนับสนุน:
www.funding-guide.de

เรียนภาษาเยอรมัน:
www.deutsch-uni.com
www.goethe.de
www.fadaf.de
www.testdaf.de
www.daad.de/sommerkurse
หรือที่สำนักงานใหญ่ DAAD ในกรุงบอนน์

Powered by Facebook Comments free add-on for most feature packed social sharing plugin for WordPress Easy Social Share Buttons

PHP Code Snippets Powered By : XYZScripts.com
error: Content is protected !!
Send this to a friend