https://www.thaistudyabroad.com

การสมัครเรียนต่ออเมริกา

มหาวิทยาลัยหรือวิทยาลัยแต่ละแห่งในประเทศสหรัฐอเมริกามีมาตรฐานระเบียบการสมัครและมาตรฐานการรับนักศึกษาเข้าเรียนไม่เหมือนกัน ดังนั้นนักศึกษาจะต้องทำการสมัครเรียนแยกกันในแต่ละสถานศึกษา ถึงแม้ว่านักศึกษาได้ตัดสินใจแล้วว่าต้องการที่จะเข้าเรียนที่ไหน นักศึกษาควรจะสมัครเรียนที่อื่นไว้ด้วยในกรณีที่วิทยาลัยที่เลือกไว้ไม่รับนักศึกษาเข้าเรียน และอย่างน้อยที่สุดควรจะเลือกสมัครเข้าเรียนในหนึ่งหรือสองวิทยาลัยที่อาจารย์ที่ปรึกษาและนักศึกษาเห็นว่าตัวเองมีคุณสมบัติเพียงพอที่จะสมัครเข้าเรียน เนื่องจากมีนักศึกษาจากทั่วโลกมาแข่งขันเข้าสมัครเข้าเรียนด้วยเหมือนกัน และทางวิทยาลัยจะรับนักศึกษาเข้าเรียนในจำนวนจำกัดเท่านั้น

คำศัพท์

Transcript ใบรับรองผลการศึกษา
Credit หน่วยกิตวิชา บ่อยครั้งที่จะหมายถึงชั่วโมงเรียนในห้องเรียนของแต่ละวิชาในหนึ่งสัปดาห์
Undergraduate นักศึกษาที่กำลังทำการศึกษาอยู่ในระดับปริญญาตรี แต่ยังไม่ได้รับปริญญา
Graduate school บัณฑิตวิทยาลัย เป็นวิทยาลัยที่เปิดสอนนักศึกษาในระดับที่สูงกว่าระดับปริญญาตรีขึ้นไป
GPA-Grade Point Average เกรดเฉลี่ย เป็นตัวเลขวัดผลการศึกษาโดยยึดจากหน่วยกิตวิชาที่เรียนและผลการสอบเป็นหลัก

วิทยาลัยส่วนใหญ่สนับสนุนให้นักศึกษาชาวต่างชาติทำการติดต่อกับสถานศึกษาที่ตนเองอยากเข้ารับการศึกษาหนึ่งปีก่อนที่จะทำการวางแผนใดๆ

 

ขั้นตอนการสมัครเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยและวิทยาลัยในประเทศสหรัฐอเมริกามีดังต่อไปนี้:

เขียนจดหมายถึงสถานศึกษาหลายๆแห่ง หลังจากที่นักศึกษาได้เลือกสถานที่ศึกษาแล้ว ควรทำการติดต่อสถานศึกษาเพื่อรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิธีการสมัครเข้าเรียนของนักศึกษาชาวต่างชาติและแบบฟอร์มการสมัครต่างๆ นักศึกษาสามารถหาข้อมูลของสถานศึกษาต่างๆ จาก www.thaistudyusa.com เพื่อขอรับข้อมูลผ่านทางออนไลน์ หรือติดต่อได้ที่ 02-644-9885 Hotline: 080-941-5664 ถ้านักศึกษามีความสนใจที่จะเข้ารับการศึกษาในระดับปริญญาตรีหรือหลักสูตรเรียนภาษาอังกฤษ

นักศึกษาที่ต้องการจะศึกษาต่อที่บัณฑิตวิทยาลัยควรมีผลการเรียนที่ดี

ส่งใบสมัคร มหาวิทยาลัยและวิทยาลัยในประเทศสหรัฐอเมริกาส่วนใหญ่คัดเลือกนักศึกษาจากผลการเรียนและผลคะแนนสอบ เช่น TOEFL, the SAT หรือ ACT ถ้านักศึกษาสมัครเข้าเรียนที่บัณฑิตวิทยาลัย นักศึกษาจะต้องแสดงคะแนนผลการสอบเพิ่มเติม เช่น the GRE, GMAT เป็นต้น

(นักศึกษาอาจจะสามารถขอรับใบสมัครของสถานศึกษาบางแห่งได้ด้วยตัวเองที่เว็บไซต์ของสถานศึกษา หรือที่ศูนย์แนะแนว Thai Study USA ค่าสมัครต่อหนึ่งแบบฟอร์มการสมัครเข้ารับการศึกษาคือ 35-100 เหรียญดอลล่าร์สหรัฐฯ ซึ่งถือเป็นค่าดำเนินการใบสมัครและไม่สามารถเอาคืนได้ถึงแม้ว่าจะไม่ได้รับการยอมรับให้เข้ารับการศึกษาก็ตาม

ใบสมัครส่วนใหญ่จะถามข้อมูลต่างๆดังต่อไปนี้:

  • ข้อมูลส่วนตัว—รวมไปถึงชื่อ, อายุ, ที่อยู่, ภูมิหลังครอบครัว, สถานที่เกิด, สัญชาติ และอื่นๆ
  • กิจกรรมต่างๆที่เข้าร่วม—รายชื่อของสโมสรที่เป็นสมาชิกอยู่, รางวัลที่ได้รับ, ประสบการณ์ด้านการกีฬา หรือตำแหน่งทางผู้นำที่เคยมี
  • แผนการศึกษา—เขียนบทความสั้นๆในหัวข้อที่ว่าทำไมนักศึกษาถึงต้องการที่จะเข้ารับการศึกษาในสถานศึกษาแห่งนี้, คณะวิชาอะไรที่นักศึกษาต้องการศึกษา, อาชีพในฝัน และแผนการทำการวิจัยค้นคว้า
  • บทความ—สถานศึกษาบางแห่งมีหัวข้อบทความให้นักศึกษาเลือก กรุณาดูที่ Sidebar
  • จดหมายรับรอง—ในแบบฟอร์มใบสมัครเข้ารรับการศึกษาจะมีกระดาษเปล่าอยู่สองสามใบไว้สำหรับเขียนจดหมายรับรอง ให้นักศึกษาขออาจารย์สองสามท่านเขียนจดหมายรับรองและส่งตรงไปที่สถานศึกษาที่นักศึกษาได้เลือกไว้

ควรส่งใบสมัครเข้ารับการศึกษาก่อนที่จะหมดเขตการรับสมัคร

 

การสมัครสอบเพื่อขอเข้ารับการศึกษา นักศึกษาที่สมัครเข้ารับการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยและวิทยาลัยในประเทศสหรัฐอเมริกา ต้องทำการสอบเพื่อวัดสมรรถภาพและประเมินผลการศึกษา นักศึกษาชาวต่างชาติต้องทำการทดสอบวัดระดับภาษาอังกฤษ โดยการสมัครขอเข้าสอบได้ที่ศูนย์การทดสอบซึ่งตั้งอยู่ทั่วโลก ซึ่งมีมาตรฐานการทดสอบเหมือนกันทุกศูนย์ ผลการทดสอบของนักศึกษาจะถูกสำนักงานฝ่ายรับสมัครพิจารณาในด้านความสามารถของนักศึกษา และยังมีการเปรียบเทียบผลการทดสอบกับผลการทดสอบของนักศึกษาคนอื่นๆอีกด้วย

เมื่อเข้าทำการทดสอบเพื่อขอเข้ารับการศึกษาแล้ว ผลการทดสอบจะถูกส่งตรงไปที่มหาวิทยาลัยหรือวิทยาลัยที่นักศึกษาได้สมัครไว้ นักศึกษาอาจจะถูกถามชื่อของสถานศึกษาเวลาขอสมัครเข้าทำการทดสอบบางตัว เช่น the SAT หรือ ACT หรือในกรณีที่มีการใช้คอมพิวเตอร์ในการทดสอบนั้น นักศึกษาสามารถระบุสถานศึกษาได้ที่ศูนย์ทำการทดสอบ แล้วทางศูนย์จะทำการส่งผลการทดสอบไปยังสถานศึกษาเหล่านั้นโดยตรง และถ้านักศึกษาต้องการผลการทดสอบหลังจากนั้นจะต้องเสียค่าธรรมเนียมการออกผลสอบ

 

การรับจดหมายยอมรับเข้าเรียน หลังจากหมดเขตการรับสมัคร นักศึกษาจะได้รับจดหมายจากทางสถานศึกษาที่ได้สมัครไว้ บางสถานศึกษาบอกผลกับนักศึกษาทันทีหลังจากที่สำนักงานฝ่ายรับสมัครได้รับเอกสารการสมัครจากนักศึกษา ซึ่งเรียกว่า “rolling admissions.” แต่สถานศึกษาอื่นๆ รอหลายเดือนก่อนแล้วแจ้งนักศึกษาให้ทราบพร้อมกันทีเดียว

 

การจ่ายค่ามัดจำ สถานศึกษาส่วนใหญ่กำหนดเวลาให้นักศึกษาจ่ายค่ามัดจำล่วงหน้าเพื่อจองที่ในห้องเรียนในวันแรก สำหรับนักศึกษาชาวต่างชาติแล้วอาจจะต้องจ่ายค่ามัดจำล่วงหน้าเป็นค่าการเรียนการสอนต่อหนึ่งเทอมหรือต่อหนึ่งปี

นักศึกษาควรจะจ่ายค่ามัดจำล่วงหน้าทันทีถ้าต้องการที่จะสมัครขอความช่วยเหลือด้านการเงินหรือถ้าต้องการวางแผนที่จะพักอาศัยที่หอพักนักศึกษาในมหาวิทยาลัย เนื่องจากสถานศึกษาหลายแห่ง่มีห้องพักไม่เพียงพอให้นักศึกษาทุกคนพักอาศัยอยู่ ดังนั้นนักศึกษาจะมีโอกาสที่จะได้ที่พักในหอพักมากกว่าถ้านักศึกษาจ่ายค่ามัดจำและส่งใบสมัครขอที่พักอาศัยให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้

สถานศึกษาที่นักศึกษาเลือกไว้อาจจะขอให้นักศึกษาแสดงรายการบัญชีเงินฝากเพื่อดูว่านักศึกษามีงบเพียงพอตลอดปีการศึกษาหรือไม่ ถ้ามีทุนการศึกษาจากรัฐบาลหรือบริษัทนักศึกษาต้องแสดงรายละเอียดให้กับสถานศึกษาด้วย

 

การเขียนบทความที่ดี

นักศึกษาอาจจะไม่คุ้นเคยกับวิธีการแบบอเมริกันที่จะต้องเขียนบทความส่วนตัวเพื่อส่งไปพร้อมกับใบสมัครขอเข้ารับการศึกษา ดังนั้นเรามีวิธีการเขียนบทความดีๆมาแนะนำให้ดังต่อไปนี้

ขั้นที่ 1: ตั้งหัวข้อบทความที่ดี หัวข้อบทความที่ดีควรจะมีความหมายสำหรับผู้เขียนเป็นการส่วนตัว เปิดเผยถึงความเป็นตัวคุณ แสดงความมีคุณค่าในตัวคุณ สิ่งที่คุณสนใจ และชี้แจงว่าทำไมคุณถึงดีกว่าผู้สมัครคนอื่นๆ เขียนถึงสิ่งที่ผู้ตัดสินไม่สามารถมองเห็นได้จากผลการศึกษา จากวิชาได้เรียนมาหรือสิ่งอื่นๆที่มีอยู่แล้วในใบสมัคร การเลือกหัวข้อบทความมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง คุณเริ่มต้นจากการถามตัวเองว่าคุณชอบอะไร ทำอะไรมาบ้าง หรืออยากจะไปที่ไหน

ขั้นที่ 2: เขียนบทความ การเขียนบทความต้องใช้เวลา ไม่ควรรีบเร่งทำให้เสร็จภายในช่วงเวลาสั้นๆในตอนบ่าย ควรให้ความสำคัญกับข้อแนะนำต่างๆ เขียนให้ผู้อ่านสนใจที่จะอ่านให้จบทั้งบทความ ใช้คำง่ายๆในการเขียนอธิบายความคิดของคุณ ไม่จำเป็นต้องใช้่คำศัพท์ภาษาอังกฤษที่เป็นทางการมากมายเพื่อแสดงความสามารถในด้านภาษาของคุณ เขียนแสดงความต่างๆ ด้วยการใช้ตัวอย่าง

ขั้นที่ 3: ค่อยๆเขียนไปเรื่อยๆและขอคำแนะนำ ควรเริ่มต้นการเขียนบทความล่วงหน้านานๆ เพื่อที่คุณจะได้มีเวลาหยุดพักเขียนสองถึงสามวัน หรือเป็นอาทิตย์แล้วกลับมาเขียนใหม่ ซึ่งจะช่วยให้คุณมีมุมมองใหม่ๆในบทความของคุณ ควรให้เพื่อนๆหรือสมาชิกในครอบครัวอ่านบทความของคุณเพื่อให้พวกเขาแนะนำหรือบอกในสิ่งที่คุณลืมเขียนลงในบทความได้ ขอให้เขียนอย่างสนุก ค่อยๆเขียน และเขียนสื่อสารความเป็นตัวคุณให้ดีที่สุด!

 

ข้อแนะนำในการทำข้อสอบ

เมื่อกำลังเตรียมตัวเพื่อการทดสอบต่างๆที่พูดถึงในบทความนี้ นักศึกษาควรจำไว้เสมอว่าคำแนะนำที่ดีที่เป็นภาษาอังกฤษนั้นคือพื้นฐานที่จำเป็น ความเชี่ยวชาญในด้านภาษาอังกฤษเกิดขึ้นได้จากการศึกษาอย่างต่อเนื่องและการทำแบบฝึกหัด

1.เตรียมพร้อมในการสอบล่วงหน้า ใช้เครื่องมือในการเตรียมความพร้อมต่างๆที่มีอยู่แล้วเพื่อสร้างความคุ้นเคยในโครงสร้างและคู่มือการทำข้อสอบ ข้อแนะนำในการทำข้อสอบโดยใช้คอมพิวเตอร์หรือกระดาษนั้นจะมีให้ทุกๆ ครั้งที่มีการสอบ

2.ศึกษาคำถามตัวอย่างที่มีอยู่และทำแบบฝึกหัด ส่วนใหญ่แล้วจะมีตัวอย่างคำถามและข้อความต่างๆให้ศึกษาพร้อมกันกับตัวอย่างข้อสอบ ควรทำแบบฝึกหัดให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ก่อนการสอบจริง

3.สร้างบรรยากาศของสถานที่ทำการสอบ สร้างบรรยากาศในที่ที่คุณอ่านหนังสือสอบให้เหมือนกับห้องสอบให้มากที่สุด ตั้งเวลาในการทำแบบฝึกหัดและพยายามทำแข่งกับเวลาเหมือนกับเวลาจริงในห้องสอบ มองหาจุดที่คุณต้องปรับปรุงแก้ไขแล้วตั้งใจศึกษาในจุดนั้นๆ

4.ใช้บริการในแหล่งข้อมูลทุกที่ี เมื่อคุณรู้แนวข้อสอบและวิธีการให้คะแนนสอบ จะช่วยให้คุณทำข้อสอบได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น แหล่งข้อมูลที่ดีที่สุดคือเว็บไซต์ ซึ่งข้อมูลส่วนใหญ่ทางอินเตอร์เน็ตนั้นจะมีให้ฟรี และเป็นแหล่งข้อมูลที่ให้คำแนะนำที่ดีเพื่อช่วยให้คุณประสบความสำเร็จในการทำข้อสอบ

5.ทำตามข้อแนะนำ ก่อนทำข้อสอบควรอ่านข้อแนะนำในการทำข้อสอบทั้งหมด ทำความเข้าใจกับจุดประสงค์และคิดว่าจะทำอย่างไรให้ตรงกับจุดประสงค์นั้นๆ ไม่ต้องกังวลถ้าคุณไม่รู้คำตอบ—ให้ความสนใจกับคำถามที่ทำอยู่ และทำให้ดีที่สุด อย่าใช้เวลามากเกินไปกับคำถามเดียว ให้ตั้งเวลาให้เพียงพอในการตอบคำถามทุกข้อในข้อสอบ

6.ทำตัวให้สบายและมีความมั่นใจ พักผ่อนให้เพียงพอก่อนวันสอบ จำไว้ว่าถ้าคุณพักผ่อนอย่างเพียงพอและเตรียมตัวมาอย่างดีแล้ว คุณจะรู้สึกดีและคิดในแง่บวกตลอดการทำข้อสอบ

 

ทางเลือกสู่การศึกษาระดับปริญญาในสหรัฐอเมริกา

การศึกษาระดับปริญญาตรี

วิทยาลัยชุมชนหรือวิทยาลัยระดับต้น

หลักสูตรระดับปริญญาตรีแบบหลักสูตรสองปี สามารถเตรียมความพร้อมทางอาชีพเฉพาะทาง ให้แก่คุณได้ หรือการศึกษาแบบรายวิชา (coursework) ก็สามารถโอนไปใช้ประกอบการศึกษาต่อจนจบระดับปริญญาตรีหลักสูตร 4 ปีได้

ปริญญา: อนุปริญญาตรีศิลปศาสตร์ หรือ Associate of Arts (AA), อนุปริญญาตรีวิทยาศาสตร์ หรือ Associate of Science (AS)

ขั้นตอนการโอน: ในฐานะนักศึกษา คุณอาจจะขอโอนย้ายไปศึกษาต่อในหลักสูตรสี่ปีของวิทยาลัยหรือมหาวิทยาลัยได้ สถาบันการศึกษาที่เปิดสอนหลักสูตรสี่ปีจะตรวจสอบหน่วยกิตทั้งหมดเพื่อพิจารณาว่าคุณจะสามารถโอนย้ายหน่วยกิตไปใช้ในหลักสูตรปริญญาตรีสี่ปีได้จำนวนกี่หน่วยกิต วิทยาลัยชุมชนบางแห่งอาจจะมีข้อตกลงในการโอนนักศึกษาร่วมกับสถาบันการศึกษาที่เปิดสอนหลักสูตรสี่ปีภายในมลรัฐ โดยวิทยาลัยชุมชนจะเป็นผู้ดำเนินการสอนสองปีแรกของหลักสูตร และสถาบันดังกล่าวจะดำเนินการสอนในอีกสองปีที่เหลือ

 

มหาวิทยาลัยหลักสูตรสี่ปี

ต้องมีคุณสมบัติครบถ้วนตามข้อกำหนดของมหาวิทยาลัยและสาขาวิชา จึงจะสามารถเข้าศึกษาหลักสูตรปริญญาตรีในสาขาวิชาที่เลือกเรียน (วิชาเอก) ได้

ปริญญา: ศิลปศาสตรบัณฑิต (BA), วิทยาศาสตรบัณฑิต (BS), ศิลปบัณฑิต (BFA), สังคมสงเคราะห์ศาสตรบัณฑิต (BSW), วิศวกรรมศาสตรบัณฑิต (B.Eng.), ศึกษาศาสตรบัณฑิต (B.Ed.) หรือ ปรัชญาบัณฑิต (B.Phil.) หลักสูตรวิชาชีพสถาปัตยกรรมห้าปี จะมอบวุฒิสถาปัตยกรรมศาสตรบัณฑิต (B.Arch.)

เกณฑ์ที่ใช้ในการพิจารณา:

  • สาขาวิชาที่เรียน (วิชาเอก)
  • เกรดเฉลี่ย (GPA)
  • คุณภาพของหลักสูตร
  • ลำดับที่ในชั้นเรียน
  • หนังสือแนะนำตัว (Personal Statement)
  • เกณฑ์พิจารณาอื่นๆ (เช่น การมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมนอกหลักสูตร บทเรียงความส่วนตัว จดหมายรับรอง การสัมภาษณ์ และการทดสอบตามมาตรฐาน)

 

การศึกษาระดับปริญญาโท

การศึกษาระดับปริญญาโท จะเป็นการเรียนเพิ่มเติมอีกหนึ่งถึงสามปีในสาขาวิชาเฉพาะ หลังจากที่คุณสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีในสหรัฐฯ หรือเทียบเท่าจากอีกประเทศหนึ่ง

ปริญญา: ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (MA), วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (MS), บริหารธุรกิจมหาบัณฑิต (MBA), ศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต (MEd), ศิลปมหาบัณฑิต (MFA), สังคมสงเคราะห์ศาสตรมหาบัณฑิต (MSW), วิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต (ME), นิติศาสตรมหาบัณฑิต (LLM), และรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต (MPA)

เกณฑ์ที่ใช้ในการพิจารณา:

  • สาขาวิชาที่เรียน (วิชาเอก)
  • เกรดเฉลี่ย (GPA)
  • หนังสือแนะนำตัว (Personal Statement)
  • จดหมายรับรอง (Letters of Recommendation)
  • ประสบการณ์วิชาชีพ
  • ผลคะแนนสอบตามมาตรฐาน (GMAT®, GRE® หรือ MATTM)

 

การศึกษาระดับปริญญาเอก

โดยปกติแล้ว เมื่อคุณสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท คุณก็จะสามารถเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาเอกได้ตามสาขาวิชาเฉพาะที่เลือก

ปริญญา: ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (Ph.D.), ศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิต (D.A.), ศึกษาศาสตรดุษฎีบัณฑิต (Ed.D.), ศาสนาศาสตรดุษฎีบัณฑิต (D.Th.), แพทยศาสตรบัณฑิต (M.D.), เภสัชศาสตรบัณฑิต (PharmD), กายภาพบำบัดดุษฎีบัณฑิต (D.PT), นิติศาสตรดุษฎีบัณฑิตทางกฎหมาย (D.Jur.)

เกณฑ์ที่ใช้ในการพิจารณา:

  • สาขาวิชาที่เรียน (วิชาเอก)
  • เกรดเฉลี่ย (GPA)
  • หนังสือแนะนำตัว (Personal Statement)
  • ประสบการณ์วิชาชีพ
  • ผลคะแนนสอบตามมาตรฐาน (GMAT®, GRE®, MCAT, LSAT หรือ MATTM)

 

การโอนย้ายที่เรียนสำหรับหลักสูตรสองถึงสี่ปี – ทางเลือกที่ดีเยี่ยม!

เพราะเหตุใดนักศึกษาจึงเลือกที่จะเข้าเรียนในวิทยาลัยชุมชนหรือวิทยาลัยระดับต้นก่อน?

  1. มหาวิทยาลัยที่เปิดสอนหลักสูตรสี่ปีส่วนใหญ่จะมีวิทยาลัยที่สอนหลักสูตรสองปีอยู่ในบริเวณใกล้เคียง วิทยาลัยดังกล่าวจึงมักจะเรียกกันว่า วิทยาลัยชุมชน (Community college) หรือวิทยาลัยระดับต้น (Junior College) คุณสามารถเรียนจบวุฒิอนุปริญญาตรี และ/หรือ โอนย้ายหน่วยกิตไปใช้ประกอบการศึกษาต่อจนจบระดับปริญญาตรีหลักสูตรสี่ปีได้
  2. กล่าวโดยทั่วไปแล้ว ค่าเล่าเรียนที่วิทยาลัยชุมชนหรือวิทยาลัยระดับต้นจะถูกกว่าที่มหาวิทยาลัยที่เปิดสอนหลักสูตรสี่ปีค่อนข้างมาก
  3. ชั้นเรียนส่วนใหญ่จะมีขนาดเล็กกว่าที่วิทยาลัยชุมชนหรือวิทยาลัยระดับต้น
  4. ในหลักสูตรการศึกษาส่วนมาก คุณจะเริ่มต้นเรียนวิชาหลักที่คล้ายคลึงกันหรือเรียนตามหลักสูตรที่กำหนดไว้สำหรับช่วงสองปีแรกในวิทยาลัย ซึ่งจะเหมือนกันไม่ว่าคุณจะเข้าเรียนที่วิทยาลัยก่อนสองปี หรือในกรณีที่คุณเข้าศึกษาโดยตรงในมหาวิทยาลัยแบบหลักสูตรสี่ปี
  5. การกำหนดเกรดเฉลี่ย (GPA) ขั้นต่ำและเกณฑ์อื่นๆ ในการพิจารณารับนักศึกษาของวิทยาลัยชุมชนจะต่ำกว่าในมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ บางครั้งวิทยาลัยชุมชนอาจจะ “เปิดรับนักศึกษาแบบเสรี” หมายถึง จะมีข้อกำหนดในการรับนักศึกษาเพียงอย่างเดียวคือ ต้องสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษา
  6. ในหลายมลรัฐจะมีแผนการโอนย้ายนักศึกษากำหนดเอาไว้ล่วงหน้า หรือมีข้อตกลงในการเทียบโอนหน่วยกิตระหว่างสถาบันการศึกษาแบบสองปีและสี่ปี อาจารย์แนะแนวการศึกษาของวิทยาลัยชุมชนจะเป็นผู้แนะนำแผนการศึกษาที่มีการศึกษารายวิชา โดยพิจารณาจากหลักสูตรการศึกษาของคุณ แผนดังกล่าวไม่เพียงแต่จะตรงตามข้อกำหนดในการสำเร็จการศึกษาระดับอนุปริญญาตรีของทางวิทยาลัยเท่านั้น แต่จะมีความเหมาะสมในการสามารถโอนหน่วยกิตให้ได้จำนวนมากที่สุดเพื่อเข้าศึกษาต่อในหลักสูตรสี่ปีของมหาวิทยาลัยอีกด้วย
  7. เกรดเฉลี่ยที่กำหนดโดยมหาวิทยาลัยในการพิจารณารับโอนนักศึกษามักจะต่ำกว่าเกรดที่ใช้ในการพิจารณารับนักศึกษาใหม่ในปีแรก สำหรับนักศึกษาที่มีเกรดเฉลี่ยต่ำจากโรงเรียนมัธยมศึกษา การมีผลการเรียนที่ดีในวิทยาลัยชุมชนก็จะทำให้ได้รับโอกาสอีกครั้งในการได้รับการยอมรับให้เข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัย

 

ข้อกำหนดทางการศึกษาในการโอนเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยหลักสูตรสี่ปีมีอะไรบ้าง?

ข้อกำหนดทางการศึกษาที่จะทำให้นักศึกษาสามารถโอนย้ายที่เรียนได้เป็นผลสำเร็จนั้นจะแตกต่างกันไปสำหรับแต่ละมหาวิทยาลัยที่เปิดสอนหลักสูตรสี่ปี ในฐานะนักศึกษา คุณจะได้เข้าพบกับอาจารย์แนะแนวการศึกษาเพื่อกำหนดเป้าหมายสำหรับการโอนย้ายไปเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยที่คุณเลือก เมื่อคุณมีหน่วยกิตสะสมครบตามที่ระบุไว้จากวิทยาลัยชุมชนแล้ว (โดยปกติแล้วจะเท่ากับ 30 หน่วยกิต หรือ สิบวิชาๆ ละ 3 หน่วยกิต) และได้เกรดเฉลี่ยขั้นต่ำ (โดยปกติแล้วจะอยู่ระหว่าง 2.0/4.0 และ 2.5/4.0 ขึ้นอยู่กับข้อกำหนดของทางมหาวิทยาลัยที่สอนหลักสูตรสี่ปี) คุณจะได้รับการพิจารณาโดยมหาวิทยาลัยให้เข้าศึกษาในฐานะนักเรียนโอน คุณจะต้องยื่นแสดงใบแสดงผลการศึกษา (transcripts) ที่เป็นทางการซึ่งได้รับจากทุกวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยในการสมัครเพื่อเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัย

 

แผนการโอนย้ายที่เรียนมีลักษณะใดบ้าง?

การดำเนินการเพื่อโอนย้ายที่เรียนระหว่างสถาบันการศึกษาจะแตกต่างกันไป โดยจะมีข้อตกลงที่ทำขึ้นระหว่างมลรัฐในการกำหนดแผนการศึกษาที่เฉพาะเจาะจง และเพื่อให้ขั้นตอนการโอนเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยสามารถกระทำได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ ยังมีข้อตกลงพิเศษซึ่งทำขึ้นระหว่างบางสถาบันภายในชุมชนเดียวกัน หรือสถาบันที่มีความเชี่ยวชาญทางวิชาการที่เหมือนกัน ณจะต้องขอคำปรึกษาอย่างใกล้ชิดจากอาจารย์แนะแนวการศึกษาในวิทยาลัยชุมชนของคุณ เพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะเรียนจบตามแผนการศึกษาซึ่งจะส่งผลให้คุณสามารถโอนย้ายหน่วยกิตได้มากที่สุด

 

การจัดอันดับ

ในสหรัฐอเมริกาไม่มีการจัดอันดับมหาวิทยาลัยดีเด่น 10, 20, 50 หรือแม้กระทั่ง 100 แห่งแรกของประเทศอย่างเป็นทางการ อีกทั้งรัฐบาลของสหรัฐฯ เองก็ไม่ได้จัดอันดับมหาวิทยาลัยไว้เช่นกัน ในแต่ละปี จะมีการตีพิมพ์นิตยสารและหนังสือแนะนำจำนวนมากที่ระบุถึง “การจัดอันดับ” มหาวิทยาลัยตามความคิดเห็นเชิงอัตวิสัย การจัดอันดับที่ไม่เป็นทางการนี้อาจจะแบ่งกลุ่มวิทยาลัย/มหาวิทยาลัยโดยเรียงตามสถานที่ตั้งหรือสาขาวิชาที่เปิดสอน (เช่น วิศวกรรมศาสตร์ วิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ หรือธุรกิจ) นอกจากนี้ ยังอาจมีการแบ่งกลุ่มเป็น “ระดับภูมิภาค” หรือ “ระดับประเทศ” ทั้งนี้ในการจัดอันดับบางรายการ อาจจะไม่ได้นำเอามาตรฐานทางการศึกษาและชื่อเสียงโดยทั่วไปมาเป็นปัจจัยหลักในการพิจารณา

หากคุณเป็นนักเรียนและใช้ดัชนีการจัดอันดับดังกล่าวในการคัดเลือกมหาวิทยาลัยเป้าหมายที่เหมาะสม คุณควรตรวจสอบเกณฑ์การพิจาณาที่ใช้ในการจัดอันดับและเปรียบเทียบกับเป้าหมายทางการศึกษาส่วนตัวของคุณเอง ข้อมูลการจัดอันดับที่ได้รับการตีพิมพ์เหล่านี้ ถึงแม้ว่าจะไม่เป็นทางการ แต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่อาจนำมาพิจารณาประกอบในการค้นหามหาวิทยาลัย ประสบการณ์ในการศึกษามหาวิทยาลัยนั้น เป็นประสบการณ์ที่เป็นนามธรรม ซึ่งไม่สามารถคิดคำนวณเป็นตัวเลขได้ ดังนั้น ดัชนีการจัดอันดับจึงเป็นเพียงเครื่องมืออย่างหนึ่งเท่านั้นในการช่วยคุณค้นหาสถาบันที่จะสามารถตอบสนองความต้องการทางการศึกษาและด้านสังคมของคุณ ดังนั้น ดัชนีการจัดอันดับจึงเป็นเพียงเครื่องมืออย่างหนึ่งเท่านั้นในการช่วยคุณค้นหาสถาบันที่จะสามารถตอบสนองความต้องการทางการศึกษาและด้านสังคมของคุณ ดัชนีการจัดอันดับมหาวิทยาลัยที่ได้รับความนิยมในสหรัฐอเมริกา ได้แก่ U.S. News & World Report’s “Best Colleges” Fiske Guide to CollegesBarron’s และ Peterson’s

Powered by Facebook Comments free add-on for most feature packed social sharing plugin for WordPress Easy Social Share Buttons

PHP Code Snippets Powered By : XYZScripts.com
error: Content is protected !!
Send this to a friend